หลักเกณฑ์ทั่วไปในการโฆษณาอาหาร
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการโฆษณาอาหารไว้ดังต่อไปนี้
1. หลักเกณฑ์ทั่วไปในการโฆษณาอาหาร
1.1 การโฆษณาอาหาร จะต้องแสดงชื่ออาหารภาษาไทยตามใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือใบสำคัญการใช้ฉลากอาหาร อย่างน้อย 1 ครั้ง ถ้าเป็นอาหารทั่วไปที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหาร ให้ใช้ชื่ออาหารตามที่แสดงที่ฉลากนั้น ๆ ยกเว้นชื่ออาหารที่แสดงถึงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ
การแสดงชื่ออาหารให้ปฏิบัติดังนี้
สื่อสิ่งพิมพ์ - แสดงชื่ออาหารในข้อความโฆษณา หรือแสดงภาพผลิตภัณฑ์ที่เห็นชื่ออาหารบนฉลากอย่างชัดเจน
สื่อวิทยุ - แสดงชื่ออาหารในส่วนเสียงโฆษณา
สื่อโทรทัศน์ - แสดงชื่ออาหารในส่วนเสียงโฆษณาหรือแสดงอักษรลอย (SUPER) ในภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง
- แสดงภาพผลิตภัณฑ์ที่เห็นชื่ออาหารบนฉลากอย่างชัดเจน
- แสดงชื่ออาหารเป็นอักษรลอยประกอบภาพโฆษณา
ในกรณีที่เป็นการโฆษณาอาหารหลายตำรับพร้อมกันหรือโฆษณาอาหารที่มีชื่อเต็มยาวมาก ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งมีเวลาจำกัด หากข้อความโฆษณาได้บ่งบอกถึงชนิดและประเภทของอาหารอย่างชัดเจนสอดคล้องกับข้อความอื่น ๆ แล้ว ก็อนุโลมไม่ต้องแสดงชื่อเต็มของอาหาร
1.2 การโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพของอาหาร ให้แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพของอาหารทั้งตำรับ และจะอนุญาตให้โฆษณาโดยการแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารแต่ละชนิดที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้นได้ ก็ต่อเมื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์เหล่านี้จริง
1.3 การแสดงข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ รวมทั้งการโฆษณาอาหารที่ใช้ข้อมูลทางโภชนาการในการส่งเสริมการขาย ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ
1.4 การโฆษณาจะต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคสำคัญผิดในแหล่งผลิตของอาหาร เช่น ถ้าเป็นอาหารที่ผลิตในประเทศไทย แต่ใช้สไตล์ของต่างประเทศ ต้องใช้ข้อความโฆษณาว่า "แบบ …" หรือ "ตำรับ…" ได้แก่ แบบญี่ปุ่น ตำรับอเมริกัน หรือการมีข้อความหรือภาพเป็นเรื่องคล้ายในต่างประเทศ จะต้องมีข้อความหรือเสียงที่ทำให้เข้าใจชัดเจนว่าอาหารนั้นผลิตในประเทศไทย
1.5 ห้ามโฆษณาโดยวิธีเลี่ยงให้เป็นการโฆษณาชื่อสถานประกอบการ ซึ่งมีชื่อพ้องหรือชื่อเดียวกับชื่อของผลิตภัณฑ์
1.6 การนำเครื่องหมายต่าง ๆ มาประกอบการโฆษณา เช่น เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, เครื่องหมายกรมวิทยาศาสตร์บริการ, เครื่องหมายเชลล์ชวนชิม, หรือเครื่องหมายฮาลาล จะต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรนั้น ๆ ว่าอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าว
1.7 แนวการโฆษณาจะต้องไม่เป็นการเปรียบเทียบทับถมกับผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น ยกเว้นการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง
1.8 การโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าอาหารนั้นมีจำหน่ายทั่วโลก จะต้องมีหลักฐานว่าอาหารฯมีจำหน่ายอยู่ไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ ใน 3 ทวีป
1.9 การนำบทความรู้ทางวิชาการมาประกอบการโฆษณาอาหาร จะต้องแยกส่วนของบทความรู้ทางวิชาการออกจากการโฆษณาอย่างชัดเจน และ
1.9.1 ไม่นำบทความมาใช้เพื่อส่งเสริมสินค้า แต่ต้องเป็นการแจ้งข้อความทางวิชาการให้ประชาชนทราบ
1.9.2 บทความต้องผ่านการรับรองจากองค์กรทางวิชาการที่เชื่อถือได้ เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัยฯ เป็นต้น
1.9.3 บทความทางวิชาการต้องไม่มีชื่อรูปภาพของผลิตภัณฑ์หรือเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ปรากฎอยู่ในเอกสารนอกจากชื่อบริษัทฯเท่านั้น
1.10 ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิชาการด้านอาหาร นักโภชนาการ และนักศึกษา มาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบในการโฆษณา
1.11 การใช้ภาษาในการโฆษณา จะต้องถูกต้องตามหลักภาษาไทย การใช้ทับศัพท์ของภาษาต่างประเทศ ต้องเป็นคำที่ใช้เป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับ
1.12 การโฆษณาอาหารจะต้องไม่สื่อความหมายให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าอาหารนั้นสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยได้ เพราะจะทำให้สำคัญผิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นยา
1.13 การใช้คำว่า "สด" ในการโฆษณาคุณประโยชน์ของอาหาร
1.13.1 สำหรับอาหารที่เป็นผลิตผลตามธรรมชาติ ได้แก่ พืชผักและผลไม้
1.13.2 อาหารที่มีระยะเวลาในการจำหน่ายไม่เกิน 3 วัน นับจากวันที่ผลิต เช่น นมพร้อมดื่มผ่านกรรมวิธีพาสเจอร์ไรส์ ขนมปัง
1.14 การใช้คำว่า "ใหม่" อาหารนั้นจะต้องเป็นสินค้าใหม่ จะอนุญาตให้ใช้เมื่อผลิตภัณฑ์ได้ขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือได้รับอนุญาตให้ใช้ฉลากอาหารเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยจะอนุญาตให้ใช้คำว่า "ใหม่" ในความหมายนี้เป็นเวลา 1 ปี
1.15 การโฆษณาอาหารโดยใช้คำว่า "บำรุงร่างกาย" ให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและเหมาะสมตามแต่กรณี โดยให้ใช้สำหรับอาหารประเภทผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย เครื่องดื่ม ธัญญาหาร
1.16 ให้โฆษณาอาหารโดยใช้คำว่า "ออร์กานิก" ประกอบชื่ออาหารได้ สำหรับอาหารที่เพาะปลูกหรือมีการเลี้ยง (พืชและสัตว์) ตามคำแนะนำของกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกหนังสือรับรอง ซึ่งมีการประสานกับองค์กรระหว่างประเทศ คือ IFOAM (The International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งเป็นผู้ดูแล
1.17 ให้โฆษณาโดยใช้คำว่า "ธรรมชาติ" ได้ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูปหรือผ่านกรรมวิธีง่าย ๆ ที่ไม่มีการเติมวัตถุเจือปนอาหาร, สี, กลิ่น, วิตามิน และเกลือแร่
1.18 การโฆษณาแถมพก เสี่ยงโชค ชิงรางวัล ต้องตรงตามเงื่อนไขของกรมตำรวจตามพระราชบัญญัติการพนันชิงโชค
2. หลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภท
หลักเกณฑ์ต่อไปนี้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาคำขอโฆษณาอาหารที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เฉพาะอย่าง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไปแล้วต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะนี้ด้วย
1. อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
1.1 ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ใช้เลี้ยงทารกและเด็กเล็ก ภาชนะบรรจุ ขวดนม หัวนมยาง หัวนมหลอก และอุปกรณ์ที่ใช้ หรือมีความมุ่งหมายที่จะใช้กับสิ่งดังกล่าวผ่านสื่อมวลชน หรือการจัดนิทรรศการแก่ประชาชน
1.2 การโฆษณาอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ให้โฆษณาได้ทางวารสารทางการแพทย์
1.3 การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทางสิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่น ๆ ผู้ประกอบการให้ได้เฉพาะแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
1.4 อาหารที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับเลี้ยงทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งมีระบบการย่อยอาหารผิดปกติ หรือมีการดูดซึมอาหารผิดปกติ หรือแพ้สารอาหารบางชนิด ผู้ประกอบการให้ได้เฉพาะแพทย์พยาบาลและนักโภชนาการเท่านั้น
1.5 ข้อมูลดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ถูกต้อง เป็นจริง และทันสมัย อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ใดก็ตามดีกว่า เท่าเทียม หรือคล้ายนมแม่ ไม่ชักจูงให้เลี้ยงลูกด้วยอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือโน้มน้าวไม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
1.6 ต้องแสดงเครื่องหมายการได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
2. อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก
2.1 อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กที่จะโฆษณาได้ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีส่วนประกอบของนมโคน้อยกว่าร้อยละ 60 ของน้ำหนัก โดยไม่รวมน้ำ
- วิธีเตรียมเพื่อรับประทาน จะต้องไม่ใช้ชงดื่มในทำนองเดียวกับน้ำนม
2.2 ต้องมีข้อความที่แสดงถึงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ
- "นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด" และ
- "อย่าใช้เลี้ยงทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน"
ซึ่งข้อความนี้จะต้องปรากฏชัดในการโฆษณาทุกสื่อ หากเป็นการโฆษณาที่มีทั้งภาพและเสียง ก็ให้ปรากฏข้อความนี้ทั้งในส่วนภาพและส่วนเสียง
2.3 แนวการโฆษณาและการนำภาพเด็กมาประกอบการโฆษณา จะต้องไม่สื่อความหมาย ทำให้เข้าใจว่าอาหารเสริมดังกล่าวใช้ได้สำหรับทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
2.4 การโฆษณาจะต้องไม่ทำให้เข้าใจว่าอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กนี้มีคุณค่าครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของทารกและเด็กเล็ก
2.5 ควรแสดงวิธีปรุง วิธีใช้อาหาร อย่างชัดเจนและเน้นเรื่องความสะอาด
3. อาหารประเภทนม
การโฆษณานมผงธรรมดาหรือนมผงปรุงแต่ง
3.1 ผู้แสดงต้องมีอายุเกิน 3 ปี และการพูดต้องให้ออกเสียงอย่างชัดเจน
3.2 จะแสดงรูปภาพของส่วนผสมนั้นได้ต่อเมื่อส่วนผสมนั้นมีปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของส่วนประกอบ
4. เครื่องดื่มเกลือแร่
การโฆษณาเครื่องดื่มเกลือแร่
4.1 ให้แสดงคุณประโยชน์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายเท่านั้น
4.2 ต้องแสดงคำเตือน "เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน รับประทานวันละไม่เกิน 1 ลิตร หรือ … จำนวนหน่วยบรรจุ (ปริมาตรสุทธิรวมกันแล้วไม่เกิน 1 ลิตร)"
5. วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล
การโฆษณาวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลต้องปฏิบัติดังนี้
5.1 แสดงคำเตือน "ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น ในการควบคุมน้ำหนักและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด"
5.2 ถ้าโฆษณาทางสื่อสิ่งพิมพ์ ลักษณะตัวอักษร สีตัวอักษร ต้องให้แตกต่างจากตัวอักษรโฆษณาอื่น ๆ เพื่อให้เห็นเด่นชัด
6. บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การโฆษณาอาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือโจ๊ก ให้แสดงภาพได้ใน 2 ลักษณะ คือ
6.1 ภาพผลิตภัณฑ์จะต้องเป็นลักษณะที่แท้จริงตามลักษณะอาหารเมื่อปรุงรับประทานตามสูตรส่วนผสมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
6.2 ต้องแสดงข้อความ "เพื่อคุณค่าทางโภชนาการควรเติมเนื้อสัตว์ ผัก ไข่ ตามต้องการ" ในกรณีที่ประสงค์จะแสดงภาพอาหารที่ปรุงพร้อมรับประทาน โดยมีการเติมเนื้อสัตว์ ผัก ไข่ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร
7. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Products)
การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ปฏิบัติดังนี้
7.1 ต้องไม่โฆษณาโดยทำให้เข้าใจว่าการรับประทานอาหารนั้นเพียงอย่างเดียว จะทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นได้เท่านั้น แต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะต้องบริโภคอาหารหลักให้ครบส่วน รวมทั้งการออกกำลังกายและการพักผ่อนที่เหมาะสมด้วย
7.2 ไม่อนุญาตให้มีการกล่าวอ้างหรือรับรองคุณภาพ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ โดยบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใด ๆ
8. น้ำมันพืช
การโฆษณาน้ำมันพืช
8.1 น้ำมันพืชที่มีวิตามินอีในตำรับ ไม่อนุญาตให้โฆษณาสรรพคุณของวิตามินอี ให้ใช้ข้อความว่า "มีวิตามินอี" ได้
8.2 การกล่าวอ้างถึงปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัว
- ต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและชัดเจนเพียงพอสนับสนุนข้อความ เช่น ผลการวิเคราะห์จากหน่วยงานราชการ
- ระบุชนิดและปริมาณของกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีในน้ำมันพืชที่โฆษณาด้วย
- ข้อความโฆษณาต้องเป็นไปในลักษณะการบ่งบอกข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์ ต้องไม่มีการนำเสนอในลักษณะโอ้อวด เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่น หรือทำให้เข้าใจว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวจะช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพดี
9. เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
การโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
9.1 ไม่ให้มีการแสดงภาพการดื่มหรือเสียงดื่ม หรือชักชวนให้มีการดื่มในทุก ๆ โอกาส โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
9.2 ไม่ให้มีการแสดงภาพสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพหรือแสดงอิริยาบถที่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
9.3 ห้ามโฆษณาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจว่า การดื่มสุราจะทำให้ประสบความสำเร็จทั้งทางสังคมและทางเพศ หรือทำให้สมรรถนะทางร่างกายดีขึ้น
9.4 ให้แสดงคำเตือน "การดื่มสุราทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะลดลง" โดยใช้ตัวอักษรเส้นทึบ และอ่านได้ชัดเจน โดยมีสีของข้อความตัดกับสีของพื้นดังนี้
สื่อสิ่งพิมพ์ - แสดงคำเตือนในข้อความโฆษณา
สื่อวิทยุ - แสดงคำเตือนในส่วนเสียงโฆษณาฟังได้ชัดเจน
สื่อโทรทัศน์ - แสดงคำเตือนในส่วนเสียงโฆษณาหรือเป็นอักษรลอย (SUPER) ในภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง
10. เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน
การโฆษณาเครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน
10.1 ต้องแสดงคำเตือน "โปรดอ่านคำเตือนในฉลากก่อนดื่ม" ทางทุกสื่อโฆษณาทั้งในส่วนภาพและเสียง โดยอ่านและฟังได้ชัดเจน
10.2 ห้ามโฆษณาในลักษณะการแถมพกหรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชคหรือมีการให้ของแถม
10.3 ห้ามใช้นักมวยหรือผู้ใช้แรงงานเป็นผู้แสดงแบบโฆษณา (PRESENTER) เช่น กรรมกร คนขับรถบรรทุก ชาวประมง เป็นต้น
10.4 ห้ามสื่อความหมายที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ดื่มแล้วเพิ่มกำลังงานหรือมีพลัง
- ดื่มแล้วทำงานได้มากขึ้นโดยไม่รู้จักเหนื่อย
- ดื่มแล้วทำให้ตื่นทันที ไม่ง่วงนอน หรือตื่นอยู่ตลอดเวลา
10.5 ห้ามชักจูงหรือโน้มน้าวให้ซื้อหรือบริโภค ได้แก่
- แสดงภาพยกขวดขึ้นดื่ม
- ชักชวนให้ซื้อหรือบริโภคเพื่อนำรายได้ไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล
11. กาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม
การโฆษณากาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม ต้องปฏิบัติดังนี้
11.1 ห้ามโฆษณาในลักษณะการแถมพกหรือให้รางวัลด้วยการเสี่ยงโชค หรือมีการให้ของแถม
11.2 ห้ามใช้นักมวยหรือผู้ใช้แรงงานเป็นผู้แสดงแบบโฆษณา (PRESENTER) เช่น กรรมกร คนขับรถบรรทุก ชาวประมง เป็นต้น
11.3 ห้ามสื่อความหมายที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับทัศนคติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ได้แก่
- ดื่มแล้วเพิ่มกำลังงานหรือมีพลัง
- ดื่มแล้วทำงานได้มากขึ้นโดยไม่รู้จักเหนื่อย
- ดื่มแล้วทำให้ตื่นทันที ไม่ง่วงนอน หรือตื่นอยู่ตลอดเวลา
12. น้ำแร่
การโฆษณาน้ำแร่ต้องแสดงคำเตือน "โปรดอ่านคำเตือนในฉลากก่อนดื่ม" ทั้งในส่วนภาพและเสียง เนื่องจากน้ำแร่แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัว คือ ประกอบด้วยแร่ธาตุทั้งชนิดและปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่มาของน้ำแร่นั้น
13. อาหารทางการแพทย์ (Medical Food)
การโฆษณาอาหารทางการแพทย์ต้องแสดงข้อความ "อาหารทางการแพทย์" และคำเตือน "ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์" ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปฏิบัติตามดังนี้
13.1 ขนาดของตัวอักษรแสดงคำเตือนจะต้องมีขนาดที่อ่านได้ชัดเจน หรือขนาดไม่น้อยกว่า 1/3 ของขนาดตัวอักษรที่เป็นชื่ออาหาร
13.2 สีของตัวอักษรต้องตัดกับสีพื้น
14. หมากฝรั่ง ลูกอม ที่มีส่วนผสมของวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล
การโฆษณาหมากฝรั่ง ลูกอม ที่มีส่วนผสมของวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล กำหนดให้การโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ต้องปฏิบัติดังนี้
14.1 ผู้แสดงแบบในการโฆษณาต้องเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ห้ามใช้เด็กเป็นผู้แสดงแบบ
14.2 ต้องมีข้อความที่แสดงว่าอาหารนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็ก เช่น "ไม่ควรให้เด็กรับประทาน" หรือ "ไม่ควรให้เด็กกิน" หรือ "เด็กไม่ควรกิน" หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน โดยจะแสดงข้อความนี้ในส่วนที่เป็นภาพหรือส่วนที่เน้นเสียงก็ได้
14.3 ต้องไม่ทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก
14.4 ต้องไม่ใช้ข้อความที่สื่อได้ว่า "อมได้บ่อยเท่าที่ผู้บริโภคต้องการ"
15. อาหารประเภทเครื่องปรุงรส
การโฆษณาอาหารประเภทเครื่องปรุงรส เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซอส ซีอิ๊ว ไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า "อร่อย" แต่จะอนุญาตให้โฆษณาว่า "ปรุงอาหารให้อร่อย" "ช่วยให้อาหารอร่อย" "ช่วยเพิ่ม รสชาติอาหาร" เพราะอาหารประเภทนี้เป็นเพียงเครื่องปรุงแต่งรสอาหารมิได้นำอาหารนี้ไปบริโภคโดยตรง แต่จะอนุญาตให้ใช้คำว่า "อร่อย" ได้เมื่อมีภาพของอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วอยู่ด้วย
16. อาหารที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้
การโฆษณาอาหารที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ ต้องระบุคำเตือน "เด็กไม่ควรรับประทาน อ่านฉลากก่อนรับประทาน"
17. รอยัลเยลลี (นมผึ้ง) และผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี
การโฆษณารอยัลเยลลี (นมผึ้ง) และผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี ต้องแสดงข้อความ "อ่านฉลากก่อนรับประทาน"
18. เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล (หรือเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)
การโฆษณาเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล (หรือเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล)
18.1 ไม่อนุญาตให้แสดงข้อความ "ให้กำลังงาน" หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน
18.2 แสดงคำเตือน "เด็กไม่ควรกิน" หรือ "เด็กไม่ควรรับประทาน"
19. วุ้นสำเร็จรูป
การโฆษณาวุ้นสำเร็จรูปต้องแสดงคำเตือน "เด็กควรบริโภคแต่น้อย"
ตัวอย่างคำที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการโฆษณาอาหาร
ยอด ยอดเยี่ยม พิเศษ วิเศษ ดีเลิศ ดีที่สุด เด็ดขาด ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปลอดภัยที่สุด เหมาะสมที่สุด เป็นหนึ่ง ที่หนึ่ง บริสุทธิ์ มั่นใจกว่า เหนือกว่า …… กว่า
ที่มา: http://www.fda.moph.go.th/fda-net/html/product/food/FLicence/Advert/advrule/genadvrule.htm